วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ปวดขากรรไกร

ปวดขากรรไกร
หลังจากจัดฟันได้ 1 ปี เนื่องจากการสบฟันลึก ฟันสั้น ผลที่ตามมาคือกระดูกรองขากรรไกรล่างหายไปเลยค่ะ  เป็นผลให้ปวดบริเวณขากรรไกร ลามไปถึงปวดหัว คอ ไหล่ ซึ่งต้องรักษาโดยการผ่าตัด เลยนำบทความดี ๆ มาฝากเพื่อน ๆ ได้ดูแลรักษาสุขภาพให้ดีตั้งแต่วันนี้ อย่าปล่อยให้เกิดเลยค่ะ ทรมานมาก กลัวขากรรไกรล๊อค (ค้าง) อันตรายมาก ๆ


แก้อาการปวดกราม
เราสนใจเรื่องฟันมาก แต่น่าแปลกใจที่มักละเลยเรื่องกราม และการบดเคี้ยว ทั้งที่ความปวดเมื่อยนั้น ทรมานได้มากพอกันกับอาการฟันผุ ใครที่เริ่มรู้สึกว่า อ้าปากงับลูกชิ้นจัมโบ้ไซส์ได้ไม่ถนัด  หรือทำกิจกรรมอะไรเกี่ยวกับปากได้ยากเย็น นี่คือคำตอบและวิธีดูแลสุขภาพกรามที่นำมาฝาก

1.อาการปวดขากรรไกร ขมับ ใบหน้า เป็นอาการที่พบบ่อยรองจากอาการปวดฟัน มักส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ถ้าเป็นบ่อยก็เพียงรบกวนให้รู้สึกไม่สบายรำคาญ ไม่สดชื่น ทำให้เคี้ยวอาหารไม่ได้ อ้าปากพูด หรือหาวนอนก็เจ็บไปหมด พาลทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดกับคนข้างเคียง

2.ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร เกิดจากข้อต่อระหว่างขากรรไกรบนและล่างไม่สามารถทำงานอย่างที่ควร โดยข้อต่อนี้เป็นจุดที่มีความซับซ้อนมากที่สุดจุดหนึ่งในร่างกาย มีผลต่อการเคลื่อนขากรรไกรล่างไปข้างหน้า หลัง และด้านข้าง อาการปวดบริเวณขากรรไกรจึงมักเกิดจากการสับฟันที่ผิดปกติ และตำแหน่งของปลายกระดูกขากรรไกรล่าง กับกระดูกขากรรไกรบนที่อยู่ไม่ถูกตำแหน่ง อยู่ชิดกันเกินไป มีการเลื่อนขึ้นไปกดหมอนรองกระดูกบริเวณข้อต่อ

ดังนั้นเมื่อคุณเคี้ยวอาหารหรือกัดฟัน ก็จะทำให้เกิดแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกส่งผลให้มีอาการปวด สำหรับสาเหตุของอาการปวดขากรรไกรที่มีการลามไปถึงศีรษะ คอ ไหล่ เป็นผลมาจากแรงกดบนข้อต่อกระดูกขากรรไกร ที่มีเส้นประสาทเชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งสามารถลุกลามไปตามศีรษะ คอ และไหล่

3.โรคข้อต่อขากรรไกร และกล้ามเนื้อบดเคี้ยวซึ่งพบมากที่สุด จะมีลักษณะอาการตื้อ หนัก ร้าวที่ขากรรไกร บริเวณหู ขมับ และอาจทำให้รู้สึกปวดศีรษะได้ จะปวดมากขึ้นเมื่อเคี้ยวอาหารกรอบแข็ง เหนียว อ้าปากได้ไม่เต็มที่ อาจมีเสียงดังกึก ๆ หรือกรอบแกรบที่หน้าหูเวลาอ้าปาก ข้อต่อขากรรไกรขัดค้างเวลาอ้าหุบปาก รู้สึกแน่นในหู หูอื้อ ความผิดปกติของโรคข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อบดเคี้ยว

แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กล้ามเนื้อ แผ่นรองข้อเอ็นยึด และผิวกระดูกข้อต่อขากรรไกรเสื่อม

4.อาการของความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรมีสัญญาณเตือนได้หลายประการ ปกติแล้วมักจะเป็นการยากที่จะรู้ว่ามีอาการ เนื่องจากอาการบางอย่างอาจจะเป็นปัญหาอื่น ๆ ทันตแพทย์สามารถช่วยวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจสอบประวัติ

การรักษา การตรวจในคลินิก และการเอ็กซเรย์ อาการที่พบได้บ่อยคือ ปวดศีรษะ (มักจะถูกคิดว่าเป็นอาการของไมเกรน) อาการปวดหู และอาการปวดบริเวณหลังตา มีเสียงคลิกเวลาอ้าปากหรือหุบปาก มีอาการปวดจากการหาวการอ้าปากกว้าง หรือการเคี้ยวอาหารขากรรไกรค้าง อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อขากรรไกร

5.อาหารที่บำรุงฟันโดยตรงเลยไม่มี เพราะเนื่องจากเมื่อเวลาที่ฟันงอกขึ้นมาแล้ว ก็จะหยุดการสร้างเสริมอีก ซึ่งถ้าจะให้ดีควรจะกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน และหลังอาหารทุกมื้อควรแปรงฟันด้วย

6.แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีการรักษาความผิดปกติ ของข้อต่อขากรรไกรที่แน่นอน สำหรับความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร แต่ก็ยังมีหลายวิธีที่จะสามารถช่วยลดอาการได้อย่างมาก ซึ่งทันตแพทย์อาจแนะนำให้พยายามลดความเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ ด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ แอสไพริน หรือยาแก้ปวดอื่นๆ หรือยาแก้อักเสบ การลดผลกระทบที่อันตราย เช่น การเกร็งและการกระทบ ด้วยการใส่อุปกรณ์ที่ป้องกันการกระทบของฟันบนและล่าง การเรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย เพื่อควบคุมความตึงเครียดของกล้ามเนื้อในขากรรไกร ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการฝึกเพื่อคลายเครียด ถ้าข้อต่อขากรรไกรได้รับผลกระทบและวิธีการรักษาอื่นไม่ได้ผล การผ่าตัดขากรรไกรอาจเป็นทางเลือก

นอกจากนี้ การรักษาด้วยวิธีการจัดฟัน สามารถก็แก้ไขปัญหาอาการปวดขากรรไกรได้ แต่ต้องปรับตำแหน่งของปลายกระดูกขากรรไกรใหม่ให้ถูกต้อง ถูกตำแหน่ง